ดิ อะเมซิง เรซ (The Amazing Race) หรือชื่อย่อว่า TAR เป็นรายการเรียลลิตี้เกมส์โชว์ทางโทรทัศน์ ผลิตโดยสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งเป็นทีมละสองคน (มียกเว้น 1 ครั้ง คือครั้งที่ 8) ออกเดินทางรอบโลกเพื่อแข่งขันกับทีมอื่นๆ โดยพยายามเดินทางให้ถึงจุดหมายในแต่ละรอบให้ได้เร็วที่สุดและระหว่างเดินทางจะต้องทำภารกิจแต่ละรอบที่มอบหมายให้สำเร็จ การแข่งขันเดินทางไปในหลายประเทศ ใช้พาหนะในการเดินทางหลากหลาย เช่น เครื่องบิน, แท็กซี่ , รถเช่า, รถไฟ, รถประจำทาง, เรือ ได้รางวัล แอมมี่อวอร์ด เรียลลิตี้เกมส์โชว์ประเภทพรามไทม์มาตลอดนั้นตั้งแต่เริ่มมีการประกวดรางวัลนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 แบบผูกขาด ซึ่งทำให้รายการนี้โด่งดังเป็นอย่างมาก จุดเด่นของรายการจะถ่ายทำยากมากและใช้งบประมาณสูงเนื่องจากค่าเดินทางและจ้างคนท้องถิ่นทำงานเพื่อถ่ายทำในแต่ละฤดูกาล โดยเกมส์โชว์ดังกล่าวฉายทางซีบีเอสและเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 โดยมีชาวนิวซีแลนด์ ฟิล คีโอแกน ซึ่งเป็นทั้งพิธีกรและผู้ร่วมผลิตรายการด้วย
จนถึงปัจจุบันและในแต่ละตอนมีผู้ชมเฉพาะในสหรัฐอเมริกากว่า 10 ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่รวมจำนวนอีกหลายล้านคนที่ดูรายการนี้ผ่านทางเครือข่ายอื่นๆ อีกทั่วโลก
รูปแบบรายการในการผลิตต่อๆ มาไม่ต่างจากแบบแผนในฤดูกาลแรกมากนัก คือ ทีมสุดท้ายที่มาถึงจุดพักจะถูกคัดออกหรืออาจจะถูกคัดออก การแข่งขันจะเริ่มต้น ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมจะต้องอ่านคำใบแรกที่ให้ไว้และเดินทางตามคำสั่งที่มีทั้ง เครื่องบิน , รถเช่า , แท็กซี่ , เรือ , รถประจำทาง , รถไฟ ไปยังที่สถานที่ต่างๆ รอบโลกตามที่กำหนดไว้ให้เร็วที่สุด โดยปกติแล้วการแข่งขันจะวนกลับมาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย ซึ่งในการที่จะได้คำใบ้ต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทางนั้นทีมจะต้องทำภารกิจต่างๆ ที่ให้ไว้ในโจทย์คำสั่ง (สามารถดูคำสั่งได้จากหัวข้อ คำสั่งต่างๆ ที่ใช้ในการแข่งขัน) ในแต่ละช่วงการแข่งขันทีมจะได้เงินสดส่วนมากมาในรูปของ ดอลล่าสหรัฐอเมริกา จำนวนหนึ่งซึ่งต้องใช้อย่างคุ้มค่าในการแข่งขัน โดยเงินจำนวนนั้นต้องนำมาจ่ายทุกอย่างที่ใช้สำหรับการแข่งขันยกเว้นค่าตั๋วเครื่องบินที่อนุญาตให้ใช้บัตรเครดิตจ่ายแทนได้ การผลิตของ The Amazing Race เป็นการทำงานที่ยากมากงานหนึ่งและแตกต่างจากเรียลลิตี้เกมโชว์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิงเพราะการทำงานจะต้องย้ายสถานที่ไปตามที่แข่งขันตลอดเวลา ทั้งๆ ที่รายการนี้ถ่ายทำได้ยากมากแต่ก็ยังได้เข้าชิงรางวัล Primetime Emmy Awards ในสาขาต่างๆ เป็นเรื่อยมาตั้งแต่รายการออกอากาศถึง 40 รางวัลและคว้ามาได้มากถึง 12 รางวัล
การถ่ายทำดิ อะเมซิ่ง เรซ ถือเป็นความท้าทางอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นรายการที่แข่งขันไปทั่วโลก ทำให้ก่อนการถ่ายทำนั้นทีมงานจะต้องวางแผนเรื่องสถานที่ ภารกิจระหว่างการแข่งขัน การคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันและการส่งทีมงานเพิ่มเติมไปสนับสนุน ให้รอบคอบและสำเร็จไปได้ด้วยดี รวมทั้งการจ้างให้คนท้องถิ่นช่วยประสานงานเปรียบเสมือนผู้ช่วยทีมงานใน 1 ฤดูกาลทางผู้ผลิตกล่าวว่าจะต้องพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตาจากต่างประเทศโดยรวมแล้วกว่า 2,000 คนและทีมงานอีกกว่าร้อยชีวิต ท่ามกลางหน้าที่อันยากลำบากที่ผู้ผลิตจะต้องเผชิญระหว่างการแข่งขัน รายการนี้ใน 1 ฤดูกาล "ใช้งบประมาณมากที่สุดรายการหนึ่ง ทีมงานร่วมผลิตมากที่สุด การถ่ายทำยากลำบากมากที่สุด การวางแผนการทำงานมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด" ระหว่างการแข่งขันช่างกล้องกับช่างเสียง 2 คน จะต้องติดตามทีมผู้เข้าแข่งขันและพิธีกรตลอดเวลา ซึ่งหลังจากการถ่ายทำ ตัดต่อและได้ฟิล์มสุดท้ายที่จะนำไปออกอากาศแล้ว ทั้งทีมงานและสมาชิกในทีมจะต้องรับผิดชอบในการไม่เปิดเผยเนื้อความในรายการ (สปอยเลอร์) ที่จะทำให้มีผู้ทราบสถานที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือผลการแข่งขัน จนกว่าการแข่งขันจะออกอากาศจนจบ
หลังจากผ่านความพยายามมาอย่างหนัก ดิ อะเมซิ่ง เรซ เวอร์ชันสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับรางวัลหลายรางวัล รวมทั้งรางวัลเอ็มมีสำหรับรายการเรียลลิตี้โชว์ประเภทการแข่งขันยอดเยี่ยมและยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในรางวัลเอ็มมีในด้านเสียง การถ่ายทำวิดีโอ และการตัดต่อวิดีโออีกด้วย
ดิ อะเมซิ่ง เรซ มีความพยายามอย่างมากที่จะเปลี่ยนการถ่ายทำจากโทรทัศน์มาตรฐานเป็นโทรทัศน์ความละเอียดสูงในช่วงก่อนปี ค.ศ.2010 โดยที่หลายๆ รายการได้ทำการเปลี่ยนการถ่ายทำเป็นโทรทัศน์ความละเอียดสูงแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ไม่ว่าจะเป็น Survivor , The Biggest Loser , American Idol , America's Got Talent ฯลฯ แต่เนื่องจากการถ่ายทำที่ยากลำบากที่ตากล้องจะต้องวิ่งตลอดเวลาทำให้ภาพจะออกมาไม่ดีนักรวมถึงต้องใช้ภาพจากแฟ้มภาพที่มีอยู่มาตัดต่อเข้าไปในรายการเพื่อความสมจริง ในท้ายที่สุดแล้วตั้งแต่ฤดูกาลที่ 18 (ต้นปี ค.ศ. 2011) ดิ อะเมซิ่ง เรซ จะทำการออกอากาศในระบบโทรทัศน์ความละเอียดสูงบวกกับยังคงใช้ภาพจากแฟ้มภาพควบคู่กันไปซึ่งทางทีมงานได้กล่าวไว้ว่าจะต้องทำในลักษณะนี้ให้ได้อย่างสมดุลและเหมาะสมที่สุด
ผู้เข้าแข่งขันจำนวน 10 - 12 ทีม ใน ดิ อะเมซิ่ง เรซ จะเป็นทีมผู้เข้าแข่งขันสองคนที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว (ยกเว้นหนึ่งครั้งในเวอร์ชันสหรัฐอเมริกา คือ ดิ อะเมซิ่ง เรซ 8 แข่งขันเป็นครอบครัวทีมละ 4 คน) จากจำนวนทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด ทีมที่เข้าแข่งขันล้วนแสดงให้เห็นถึงสถิติของอายุ การเข้ากันทางเพศ และความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน ความสัมพันธ์ในการแข่งขันที่พบเห็นเช่นคู่แต่งงานที่แต่งงานกันมานานแล้ว คู่พี่น้อง (รวมถึงแฝด) คู่พ่อแม่ (รวมถึงหลานกับปู่ย่าตายาย) เพื่อน (เพื่อนร่วมห้อง, เพื่อนนักศึกษา, เพื่อนรักซึ่งเป็นเพศเดียวกัน, เพื่อนในโรงเรียนมัธยม, เพื่อนที่คบกันมานาน และเพื่อนในลักษณะอื่น ๆ) คู่รักโรแมนติก (ทั้งรักต่างเพศ และ รักเพศเดียวกัน) รวมไปถึงคู่สามีภรรยาที่เพิ่งเดทกันหรือแยกกันอยู่ กลไกความสัมพันธ์ในหลายด้านระหว่างสมาชิกในทีม ในระหว่างการแข่งขันเป็นหนึ่งในจุดสนใจของรายการ สมาชิกในทีมจะต้องแข่งขันร่วมกัน โดยไม่สามารถแยกกันได้ (ยกเว้นคำสั่งบอกให้ทำเป็นเวลาชั่วคราว) หากมีสมาชิกของทีมบาดเจ็บและไม่สามารถจบการแข่งขันได้ ทีมจะต้องถูกทำโทษ (เช่นมาร์แชลล์กับแลนซ์ในซีซั่นที่ 5) สมาชิกในทีมทั้งสองคนยังจะต้องเข้ามาที่จุดหยุดพักด้วยกันเพื่อเช็กอิน ทิศทางในการแข่งขันหลายอย่างเช่น ตัวผู้เข้าแข่งขันเอง การออกอากาศการแข่งขัน การโปรโมตการแข่งขันและการสนทนาระหว่างฟิลกับทีมที่ถูกคัดออกนั้น จะเป็นตัวเน้นผลกระทบของความสัมพันธ์ระหว่างการแข่งขัน แรกเริ่มแล้วผู้สมัครในการแข่งขันจะต้องรู้จักและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมาอย่างน้อย 3 ปี และผู้เข้าแข่งขันในคนละทีมกันจะต้องไม่รู้จักกันมาก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้มีการออกอากาศความสัมพันธ์ในทีมได้อย่างถูกต้องโดยที่ไม่ต้องยุ่งยากกับความสัมพันธ์ระหว่างทีม
อย่างไรก็ดี ผู้ผลิดรายการก็ได้ตัดกฎนี้ออกไปในซีซั่นหลัง ๆ เช่น คริสกับจอห์น (ซีซั่นที่ 6) เป็นคู่เดททางไกลมาเป็นเพียงแค่ 1 ปี หรือในกรณีที่ผู้เข้าแข่งขันหลายคนใน ซีซั่นที่ 5 ได้เคยแข่งขันกันมาก่อนในเวทีประชันความงาม (นิโคลชนะคริสตี้ในเวทีมิสเทกซัส ใน 2003) อีริคกับแดนเนียล (ซีซั่นที่ 11) ได้พบกันมาก่อนเป็นเวลาเพียงแค่ 1 ปีหลังจากแข่งอยู่คนละทีมในซีซั่นที่ 9 อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้วใบสมัครและคุณสมบัติการเข้ารับเลือกของซีซั่นที่ 14 (แจกจ่ายในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 ที่เว็บไซต์ของซีบีเอส) ได้ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องความสัมพันธ์ก่อนการแข่งขันแล้ว แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วสมาชิกในทีมจะมีความสัมพันธ์กันมาก่อนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม
การแข่งขันในแต่ละด่านจะประกอบไปด้วย งานทางแยก และ งานอุปสรรค แต่ในบางเลกอาจมีเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีงานเสริมที่ไม่จัดเป็นภารกิจหลักอีกมากมาย บางเลกอาจมี ทางด่วน ให้ใช้เพื่อนข้ามกิจกรรมทั้งหมดของเลกนั้นไปยังจุดพักเลย แต่ทีมสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวตลอดการแข่งขันทั้งหมดเท่านั้น เมื่อจบแต่ละเลกผู้เข้าแข่งขันจะมีเวลาพัก 12 ชั่วโมงแต่ในบางกรณีอาจมากกว่านั้นโดยสูงสุดอยู่ที่ 60 ชั่วโมงซึ่งเกิดขึ้นในฤดูกาลที่ 1 ที่ทีมงานเปลี่ยนแปลงสถานที่กะทันหันและยังสามารถแยกเลกในการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภทได้ดังนี้
ในช่วงเริ่มต้นของแต่ละเลก แต่ละทีมจะได้รับเงินสดเป็นค่าใช้จ่ายพร้อมกับซองคำใบ้แรก ซึ่งในระหว่างการแข่งขัน ค่าใช้จ่ายทั้งหมด (อาหาร , การเดินทาง , ค่าที่พัก , ค่าเข้าชมสถานที่ในการแข่งขัน และอุปกรณ์ต่าง ๆ) จะต้องใช้เงินสดนี้ในการจ่าย ยกเว้นการซื้อตั๋วเครื่องบิน (และการจ่ายค่าน้ำมัน ในซีซั่นที่ 8) จะต้องใช้บัตรเครดิตที่ทางรายการมีให้ หากมีเงินเหลืออยู่ระหว่างเลก ทีมสามารถนำไปใช้ในเลกต่อไปได้ สำหรับในฤดูกาลก่อน ๆ ทีมสามารถใช้บัตรเครดิตในการจองตั๋วผ่านทางโทรศัพท์และการจองตั๋วออนไลน์ ได้ แต่ในซีซั่นที่ 12 ทีมจะสามารถใช้บัตรเครดิตได้ในการจองตั๋วที่แท่นขายตั๋วเท่านั้น (แต่ทีมยังสามารถใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้ในการค้นหาเที่ยวบินที่พวกเขาเห็นว่าดีที่สุด)
เงินในที่นี้จะให้เป็นเงินสกุล ดอลลาร์สหรัฐ ไม่ว่าทีมจะอยู่ในประเทศใด ๆ ก็ตาม (กฎนี้มีข้อยกเว้นในเลก 4 ของ ซีซั่นที่ 10 ในประเทศเวียดนาม ที่ให้เงินเป็นเงินสกุลท้องถิ่น (ด่อง) โดยจำนวนเงินที่ให้ในแต่ละเลกนั้นแตกต่างออกไปตั้งแต่ไม่ให้เงินจนถึงหลายร้อยดอลลาร์ (ในซีซั่นที่ 1 , ซีซั่นที่ 10 , ซีซั่นที่ 12 มีอยู่หนึ่งเลกที่ทางรายการไม่ได้ให้เงินและในซีซั่นที่ 4 ทางรายการให้เงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับ 2 เลกสุดท้าย และตั้งแต่ ซีซั่นที่ 5 ถึง ซีซั่นที่ 9 ทีมที่เข้าสุดท้ายในเลกที่ไม่มีการคัดออกจะถูกบังคับให้คืนเงินทั้งหมด และจะไม่ได้รับเงินใช้ในเลกต่อไป
หากทีมใช้เงินหมดในระหว่างการแข่งขันหรือถูกยืดเงิน ทีมสามารถพยายามหาเงินได้ในวิธีที่ไม่ผิดกฎหมายท้องถิ่น เช่น การยืมเงินจากทีมอื่น การขอเงินจากคนท้องถิ่นหรือขายทรัพย์สินติดตัว โดยทีมจะต้องทำการขายทรัพย์สินส่วนตัวให้เป็นเงิน ก่อนที่จะนำมาใช้จ่ายต่อในการแข่งขัน ซึ่งเป็นกฎว่าทีมห้ามนำทรัพย์สินแลกแทนค่าใช้จ่ายอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถูกบทลงโทษ (แต่มีกฎข้อหนึ่งที่เห็นชัดเจนในซีซั่นที่ 7 คือ "ห้ามทีมขอเงินในท่าอากาศยานในสหรัฐอเมริกา" นอกจากนี้ในเลก 3 (มองโกเลีย เวียดนาม) ของซีซั่นที่ 10 ทีมไม่ได้รับอนุญาตให้ขอเงินหรือขายทรัพย์สินติดตัวเพื่อแลกกับเงินด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ทีมที่จำเป็นจะต้องใช้เงินฉุกเฉินประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถขอเงินจำนวนนี้มาใช้ได้จากทีมงานถ่ายทำที่จะถือเงินจำนวนนี้ไว้ แต่ต้องเป็นในกรณีเร่งด่วนเท่านั้นและโดยทั่วไปแล้วเงินเร่งด่วนนี้ไม่สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน อย่างไรก็ดีจำนวนเงินนี้ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนและ "สถานการณ์เร่งด่วน" ที่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเช่นกัน
ทุกทีมจะต้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่วางไว้เมื่อเริ่มต้นการแข่งขัน หากทีมใดไม่ปฏิบัติตาม อาจส่งผลกระทบต่อโทษปรับเวลาที่อาจส่งผลต่อลำดับในการจบการแข่งขันในเลกนั้น ๆ ของทีม อย่างไรก็ดี กฎการแข่งขันอย่างเป็นทางการไม่ได้ถูกเผยแพร่ออกมาสู่ผู้ชม แต่มีกฎกติกาบางส่วนที่เผยแพร่ออกมาในรูปของการบังคับใช้ในหลาย ๆ ครั้งระหว่างการแข่งขัน โดยกฎกติกาที่มีการเปิดเผยมีดังนี้
บทลงโทษและการชดเชยเวลาส่วนมากแล้วจะมีผลเมื่อทีมมาถึงจุดหยุดพัก โดยไม่สนว่าการกระทำผิดเกิดขึ้นในช่วงใดของเลก ฟิลจะบอกให้ทีมลงจากพรมเช็กอินก่อน แล้วรอจนกว่าโทษปรับเวลาจะหมด ซึ่งจะทำให้ทีมอื่น ๆ เข้าเช็กอินได้ในระหว่างนั้น ข้อยกเว้นสำหรับกรณีนี้คือทีมที่ไม่สามารถทำงานอุปสรรคได้ จะได้รับโทษปรับเวลา 4 ชั่วโทงทันทีที่ตัดสินใจถอนตัวหรือไม่ทำ รวมถึงไม่สามารถทำงานทางแยกได้ จะโดนปรับเวลา 24 ชั่วโมงทันทีเช่นกัน (ร็อบกับแอมเบอร์ใช้ประโยชน์จากข้อยกเว้นนี้ในซีซั่นที่ 7 จึงทำให้พวกเขายังอยู่ในการแข่งขัน) ในบางครั้งบทลงโทษอาจมีการประกาศหลังจากจบเลกนั้นแล้ว แต่ในบางครั้งไม่มีการออกอากาศ เพราะไม่ได้ส่งผลต่อลำดับของพวกเขา (นิคกับสตาร์ในซีซั่นที่ 13 เลกที่ 4) อย่างไรก็ดีก็สามารถสรุปได้ว่ามีบทลงโทษนั้น ๆ เกิดขึ้น โดยสรุปแล้ว บทลงโทษที่จะออกอากาศทางโทรทัศน์จะมีเพียงบทลงโทษที่ส่งผลกระทบต่อลำดับของทีมเท่านั้น (เช่น ฮีเธอร์กับอีฟในซีซั่นที่ 3 และเทอเรนซ์กับซาร่าห์ในซีซั่นที่ 13)
ในการถ่ายทำรายการ ดิ อะเมซิ่ง เรซ ในแต่ละฤดูกาลจะมีการแข่งขันทั้งหมด 11-13 เลกด้วยกันแล้วแต่ระยะการถ่ายทำในแต่ละฤดูกาลโดยจากทั้งหมด 20 ฤดูกาลในขณะนี้ ดิ อะเมซิ่ง เรซ ได้เดินทางไปถ่ายทำแล้วทั้งหมด 82 ประเทศ
ในแต่ละเลกของการแข่งขันทีมที่เข้ามาถึงเป็นลำดับที่ 1 อาจจะได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัล แต่ทุกๆ ทีมจะได้รับเงินรางวัลหลังจบการแข่งขันโดยดูจากลำดับที่ของแต่ละทีมดังนี้